Friday, 3 May 2024
ผศ.ดร. เมธสิทธิ์ พูลดี

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 4) “รู้เขา รู้เรา” การสร้างโอกาสและความได้เปรียบของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

“การชนะทั้งร้อยมิใช่วิธีการอันประเสริฐแท้ แต่ชนะโดยไม่ต้องรบเลย จึงถือว่าเป็นวิธีการอันวิเศษยิ่ง” และ “หากรู้เขา รู้เรา แม้นรบกันตั้งร้อยครั้งก็ไม่มีอันตรายอันใด ถ้าไม่รู้เขารู้แต่เพียงเรา แพ้ชนะย่อมก้ำกึ่งอยู่ หากไม่รู้ในตัวเขาตัวเราเสียเลย ก็ต้องปราชัยทุกครั้งที่มีการยุทธ์นั้นแล” หลาย ๆ ท่านคงไม่คุ้นเคยกับประโยคนี้เท่าใดนัก แต่ถ้าได้ยินคำว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” คิดว่าคงจะคุ้นเคยมากกว่า จากประโยคดังกล่าวเป็นข้อคิดเชิงปรัชญาของซุนวู ซึ่งเป็นผู้เขียนตำราพิชัยสงครามของซุนวู ได้ให้ข้อคิดและผู้เขียนได้นำมาเป็นแนวทางสำหรับการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการใหม่ว่า ไม่ว่าเราจะกระทำการใด ๆ ก็ตาม จะต้องมีการเรียนรู้ที่จะรู้จักตนเองและฝ่ายตรงข้ามเพื่อหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจากความเดิมจากตอนที่ 3 ผู้เขียนได้กล่าวถึงการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ โดยการทำ SWOT analysis เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการใหม่พิจารณาสภาพแวดล้อมภายในองค์การที่เป็นจุดแข็งและจุดอ่อน และสภาพแวดล้อมภายนอกเพื่อประเมินโอกาสและอุปสรรคต่าง ๆ ขององค์การ ถือเป็นการประเมินการ “รู้เขา รู้เรา” เพื่อสร้างโอกาสและความได้เปรียบในการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการใหม่

สำหรับผู้ประกอบการใหม่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) คงพิจารณาได้แล้วสำหรับวิธีการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นธุรกิจที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) การก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship) การซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover) หรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise) โดยในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการนั้นควรมีการตรวจสอบความพร้อมด้านต่าง ๆ เช่น ความพร้อมด้านตนเองโดยการประเมินคุณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ ความสามารถ การยอมรับความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต การเลือกประเภทธุรกิจ ทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมกับตนเอง รวมถึงการสำรวจฐานะทางการเงินมีเพียงพอเพื่อประกอบธุรกิจหรือไม่

ดังนั้น การบริหารงานของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงมีความแตกต่างกันไปในแต่ละลักษณะการดำเนินธุรกิจ แต่โดยทั่วไปการบริหารงานของผู้ประกอบการจะมีหน้าที่การบริหารงานที่สำคัญเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตามแนวทางทฤษฎีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ของ Peter F. Drucker (2005) ดังต่อไปนี้

1.) การวางแผน (Planning)

2.) การจัดองค์การ (Organizing)

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)

4.) การควบคุม (Controlling)

ที่มา : https://www.pinterest.com/njbusinessbuild/management/

สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

1.) การวางแผน (Planning) 

การวางแผนถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญขององค์การ โดยผู้ประกอบการจะต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า เกี่ยวกับการกำหนดแนวทางในการดำเนินงานหรือควบคุมให้องค์การดำเนินงานในอนาคต ให้สอดคล้องกับเป้าหมาย (Goal) หรือวัตถุประสงค์ (Objectives) ขององค์การในช่วงระยะเวลาหนึ่ง การวางแผนจึงเป็นการผสมผสานระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรโดยคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งในบรรดาปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ ประกอบด้วย

1.1.) กำลังคน (Man)
คนงาน พนักงาน หรือบุคลากรภายในและภายนอกองค์กรถือเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญที่สุด องค์การจะต้องมีการบริหารกำลังคนอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับงานมากที่สุด

1.2.) เงินทุน (Money)
เงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจถือเป็นหัวใจของการบริหารงานในทุกระบบขององค์การ เนื่องจากการดำเนินธุรกิจไม่สามารถดำเนินได้ดีหากขาดเงินหรือทุนที่ใช้ในการดำเนินงานที่ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจและปัจจัยต่าง ๆ ให้ดำเนินการไปได้

1.3.) วัสดุ (Material)
วัสดุ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนอะไหล่ ผลิตภัณฑ์ บริการหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนสำคัญในการนำไปใช้ผลิตสินค้าหรือจำหน่าย ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพียงพอต่อการใช้ในการผลิตและจำหน่าย มีคุณภาพและต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนขาย

1.4.) การบริหารจัดการ (Management)
การบริหารจัดการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกระบวนการจัดการบริหารควบคุม เพื่อให้งานทั้งหมดภายในองค์การมีระบบที่ชัดเจนตลอดจนมีระเบียบขั้นตอน วิธีการต่าง ๆ ในการทำงานที่ส่งให้องค์การประสบความสำเร็จ มีการนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อให้ธุรกิจบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

ที่มา : https://www.twenty20.com/photos/91bcfe00-556f-4a52-ad05-f7d95c9b31ab
สืบค้น : เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

2.) การจัดองค์การ (Organizing)
การจัดองค์การเกี่ยวข้องกับการออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์กรประกอบด้วย การแบ่งส่วนงานย่อยภายในกิจการให้เป็นหน่วยงานต่าง ๆ การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของตำแหน่งงานให้ชัดเจน และการกำหนดคำบรรยายลักษณะงาน (Job description) เป็นลายลักษณ์อักษร การจัดองค์การเป็นส่วนที่สำคัญ เนื่องจากการวางแผนและการควบคุมของกิจการขึ้นอยู่กับระดับของโครงสร้างองค์การ (ศิลปพร ศรีจั่นเพชร, 2555) ดังนั้น ผู้ประกอบการใหม่ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมควรกำหนดรูปแบบการตัดสินใจและควบคุมว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ (Decentralize) หรือ การรวมอำนาจ (Centralize) กำหนดจำนวนพนักงานในแต่ละหน่วยงานตามขนาดของกิจการ รวมถึงความรู้ความสามารถของพนักงานให้เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานภายในองค์การ 

3.) การชี้นำและการจูงใจ (Leading)
การชี้นำและการจูงใจเกี่ยวข้องกับการมอบหมายงานให้บุคคลนำไปปฏิบัติงานตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การ ซึ่งต้องอาศัยการประสานงาน การมอบหมายงานด้วยการสื่อสาร (Communication) ที่ทั่วถึงทั้งองค์การ ผู้ประกอบการใหม่ในฐานะผู้บริหารต้องจัดองค์การ โดยการจัดทำผังองค์การ (Organization chart) ที่ระบุอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบตลอดจนสายการบังคับบัญชาและควรมีการจูงใจอย่างมีประสิทธิผล เพื่อให้พนักงานตั้งใจและกระตือรือร้นและเต็มใจทำงานให้แก่องค์การ

4.) การควบคุม (Controlling)
การควบคุมถือเป็นขั้นตอนการดำเนินงานขั้นสุดท้าย เป็นกิจกรรมการติดตามผลและการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้งานบรรลุตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าแผนงานจะนำไปปฏิบัติอย่างประสบความสำเร็จ การควบคุมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะบรรลุผลได้นั้นจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการในฐานะผู้บริหาร (Management control) และการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน (Operational control) โดยการควบคุมจะมีการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน (Performance report) เพื่อประเมินผลโดยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติงานจริงกับแผนงานที่วางไว้ (เมธสิทธิ์ พูลดี, 2550) 

จากที่กล่าวมา ไม่ว่าเราจะเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการใหม่ในกิจการขนาดใดก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ก็คือ “หน้าที่การบริหาร” เพื่อนำพาให้องค์การอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตเริ่มต้นจากการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานเกี่ยวกับกำลังคน เงินทุน วัสดุ และการบริหารจัดการ หรือ ที่เรารู้จักในคำว่า “4 M” การจัดองค์การ เพื่อออกแบบและพัฒนาโครงสร้างองค์การในการใช้ประโยชน์ในการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ การชี้นำและการจูงใจ ในการมอบหมายงานให้บุคลากรนำไปปฏิบัติตามแผนงานที่กำหนด และท้ายที่สุดคือ การควบคุม เป็นการติดตามและประเมินผลเพื่อให้แน่ใจว่าแผนงานที่วางไว้ได้นำไปปฏิบัติและประสบผลสำเร็จ

 

เอกสารอ้างอิง 
เมธสิทธิ์  พูลดี. การบัญชีบริหาร. กรุงเทพฯ : ทริปเพิ้ล เอ็ดดูเคชั่น, 2550.
ศิลปพร ศรีจั่นเพชร. การวางแผนและควบคุมทางการบัญชี. กรุงเทพฯ : ทีพีเอ็น เพรส, 2555. 


โปรเด็ด! ถึง 15 ก.ค. นี้ Ford Ranger, MG ZS, Mazda 2 และ Nissan อัลเมร่า ทักไลน์ @THESHOPSTIMES 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” (ตอนที่ 3) กลยุทธ์ ของผู้ประกอบการยุคใหม่ ในมุมมองของครูบัญชี

การขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็นผู้ประกอบการใหม่ (New entrepreneur) ที่ก้าวทันและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) เนื่องจากการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการมีบทบาทสำคัญต่อการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตและความเข้มแข็งของผู้ประกอบการจะช่วยให้ประเทศสามารถแข่งขันในระดับเวทีการค้าโลกได้โดยผู้ประกอบการใหม่จะต้องมีทักษะแห่งอนาคตที่มีความพร้อมทางด้านทัศนคติ ทักษะความสามารถและความรู้สำหรับการรับมือกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี

แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ (พ.ศ. 2561-2580) มีการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า จำเป็นต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการไทยให้เป็น “ผู้ประกอบการยุคใหม่” ซึ่งหมายถึง ผู้ประกอบการที่มีทักษะและจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่มีอัตลักษณ์ชัดเจน มีความสามารถในการแข่งขันและมีนวัตกรรมในการสร้างรูปแบบธุรกิจ นวัตกรรมของสินค้าและบริการ และนวัตกรรมในกระบวนการผลิตสินค้าและการให้บริการ ตลอดจนมีทักษะในการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัลเพื่อการดำเนินธุรกิจ และมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันครอบคลุมถึงผู้ประกอบการทุกระดับ รวมถึงวิสาหกิจรูปแบบต่าง ๆ ทั้งวิสาหกิจระยะเริ่มต้น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และเกษตรกรทั้งรายเดิมและรายใหม่ที่ต้องการขยายกิจกรรมหรือธุรกิจ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564)

แล้วจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างไรดี คงเป็นคำถามในใจสำหรับผู้ประกอบการใหม่เกือบทุกคนที่มองว่าเป็นเรื่องที่ยากในการเริ่มต้นจากตรงไหนก่อนดี แล้วเมื่อเริ่มต้นแล้วจะทำอย่างไรต่อไป ธุรกิจจึงจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แนวทางในการเริ่มต้นธุรกิจหากผู้ประกอบการนำแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานไว้และผู้เขียนได้อัญเชิญมาเขียนอธิบายไว้ในตอนที่ 2 ในเรื่องของความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ ความมีเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ รวมถึงการมีภูมิคุ้มกันในการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว มาใช้เป็นแนวทางและข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์สภาพปัญหาของผู้ประกอบการใหม่โดยพิจารณากำลังของตนเองเพื่อประเมินว่ามีคุณสมบัติที่จะประกอบธุรกิจนั้นได้หรือไม่ เช่น การเลือกประเภทธุรกิจที่เหมาะสม การสำรวจฐานะทางการเงิน ทำเลที่ตั้ง เป็นต้น พิจารณาตลาดลูกค้าและคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกัน รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งองค์กรต่อไป

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการใหม่ อาจมีการพิจารณานำเครื่องมือในการประเมินสถานการณ์สำหรับองค์การเพื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการกำหนดจุดแข็งและจุดอ่อนจากสภาพแวดล้อมภายใน โอกาสและอุปสรรคจากสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนผลกระทบที่มีศักยภาพจากปัจจัยเหล่านี้ต่อการทำงานขององค์การ โดยการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม หรือ SWOT analysis 

ซึ่งอัลเบิร์ต ฮัมฟรี (Albert Humphrey) ได้พัฒนาขึ้นมาในระหว่างปี ค.ศ. 1960 - 1970 ในโครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ประเมินแผนกลยุทธ์และค้นหาสาเหตุที่การวางแผนขององค์การในยุคนั้นมักจะล้มเหลวและในปัจจุบัน SWOT analysis ได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือวางแผนกลยุทธ์ที่ดีที่สุด และใช้กันแพร่หลายมากที่สุดประกอบด้วยส่วนประกอบที่สำคัญ 4 ส่วน คือ

1.) จุดเด่นหรือจุดแข็ง (Strengths) 

เป็นสิ่งที่มีอยู่ภายในองค์การและสามารถทำได้ดีเป็นพิเศษสร้างความได้เปรียบเหนือองค์การอื่น ๆ ทำให้องค์การมีความแตกต่างและองค์การสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ฐานะการเงินที่แข็งแรง เทคโนโลยี สิทธิบัตร บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ แรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน ข้อได้เปรียบในการเข้าถึงวัสดุหรือกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

2.) จุดด้อยหรือจุดอ่อน (Weaknesses)

เป็นปัญหาหรือข้อบกพร่องที่เกิดจากภายในองค์การ เช่น ความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรม ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความสามารถทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมทางการตลาด ศักยภาพของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น

3.) โอกาส (Opportunities)

เป็นผลจากการที่สภาพแวดล้อมภายนอกองค์การเอื้อประโยชน์หรือส่งเสริมต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการใหม่ เช่น นโยบายของรัฐบาลในการให้ความสำคัญและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเนื่องจากมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การขยายตัวของตลาดส่งออกสินค้าจากการทำข้อตกลงการค้าเสรี แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงรสนิยมและรูปแบบการบริโภคของลูกค้าที่หันมานิยมสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาไทยมากขึ้น การเคลื่อนย้ายแหล่งเงินลงทุนระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมีการสนับสนุนให้เกิดการใช้แหล่งเงินทุนร่วมกัน เป็นต้น

4.) อุปสรรคหรือภัยคุกคาม (Threats)

เป็นปัจจัยภายนอกที่องค์การไม่สามารถกำหนดหรือควบคุมได้รวมถึงสิ่งที่อาจจะส่งผลเสียต่อธุรกิจได้ เช่น ปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) การเปลี่ยนแปลงความต้องการของตลาด การขาดแคลนแรงงานฝีมือ เป็นต้น องค์การจะต้องคาดการณ์สิ่งที่จะเป็นภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นและดำเนินการป้องกันก่อนที่จะเกิดความเสียหายที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจ

จากการวิเคราะห์สภาวะแวดล้อม หรือ SWOT analysis แล้วผู้ประกอบการใหม่คงมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจได้ว่าจะเริ่มต้นดำเนินธุรกิจได้อย่างไร ธุรกิจมีจุดแข็งหรือจุดอ่อนอะไรบ้าง และหากดำเนินธุรกิจไปแล้วมีช่องทางหรือโอกาสใดบ้างในการที่จะทำให้ธุรกิจมีการเติบโต รวมถึงปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่ทำให้ธุรกิจไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม ความพร้อม ความรู้ ความสามารถ เงินทุน และโอกาส เช่น

1.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีอยู่เดิมของครอบครัว (Family business) 

เป็นกิจการที่ความเป็นเจ้าของส่วนใหญ่จำกัดภายในวงศ์ตระกูลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศและยังมีบทบาทในการเชื่อมโยงการผลิตกับผู้ผลิตและคู่ค้าอื่น ๆ ขณะเดียวกันธุรกิจครอบครัวยังมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีกว่าธุรกิจโดยทั่วไป จากการสำรวจเหตุผลการทำธุรกิจวิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจขนาดย่อม พบว่า วิสาหกิจรายย่อยและวิสาหกิจขนาดย่อมทั้ง 3 ภาคธุรกิจ (ภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคการบริการ) มีเหตุผลหลักการทำธุรกิจ คือ เป็นแหล่งรายได้หลัก ส่วนเหตุผลรองลงมาสำหรับวิสาหกิจรายย่อย คือการทำธุรกิจเป็นการหารายได้เสริม ขณะที่วิสาหกิจขนาดย่อมมีเหตุผลรองในการทำธุรกิจเพราะต้องการสืบทอดธุรกิจเดิมของครอบครัวและมีแนวโน้มในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจของครอบครัวเพื่อให้เกิดการเติบโตต่อไปในอนาคต (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, 2563)  

2. การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ (New entrepreneurship)  

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่เป็นวิธีการที่ผู้ประกอบการจะต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง กล้าตัดสินใจ และพยายามที่จะก่อตั้งธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด เนื่องจากเป็นวิธีที่มีความอิสระในการเลือกองค์ประกอบของธุรกิจให้เป็นไปตามแนวคิดของผู้ประกอบการได้ การเป็นผู้ประกอบการใหม่ อาจทำได้โดยการนำผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่และวางขายในตลาดอื่นอยู่แล้วมาเข้าสู่ตลาดใหม่ (New market) หรือการนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด หรือนำผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงให้มีคุณภาพดีกว่าเดิมเข้ามาขายในตลาดเดิม เป็นต้น

3.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ซื้อต่อจากผู้ประกอบการอื่น (Takeover)

เป็นการเริ่มต้นธุรกิจโดยใช้วิธีรุก เข้าซื้อกิจการอื่นเพื่อความเป็นเจ้าของแล้วนำธุรกิจนั้น ๆ มาเป็นของตนเอง มีการควบคุมการบริหารงานต่าง ๆ รวมถึงใช้ประโยชน์จากความสามารถหลักของธุรกิจที่ซื้อมา เช่น ทรัพย์สิน ทักษะการดำเนินงาน เทคโนโลยี ขอบข่ายทางการตลาด สายสัมพันธ์ทางธุรกิจ รวมถึงชื่อเสียงของสินค้าและบริการที่มีอยู่เดิม การเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีนี้จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลาหรือความสามารถมากในการพัฒนาขีดความสามารถและทรัพยากรหลัก ๆ ขณะเดียวกันหากผู้ประกอบการเลือกการเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีนี้อาจจะส่งผลให้สูญเสียความเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริงไปส่วนหนึ่งเนื่องจากขาดการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ด้วยตนเอง แต่ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจและมีต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจที่สร้างขึ้นใหม่

4.) การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยการขอรับสิทธิทางการค้าจากเจ้าของสิทธิหรือธุรกิจแฟรนไชส์ (Franchise)

เป็นการประกอบธุรกิจที่เจ้าของสิทธิ (Franchisor) ตกลงอนุญาตให้ผู้รับสิทธิ (Franchisee) ดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อการค้า การบริหาร และระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ ซึ่งเป็นผู้พัฒนาขึ้น ผู้รับสิทธิจะต้องดำเนินธุรกิจตามรูปแบบและระบบธุรกิจของเจ้าของสิทธิ และจ่ายค่าตอบแทนแก่เจ้าของสิทธิ เจ้าของสิทธิจะให้ความช่วยเหลือผู้รับสิทธิในการดำเนินงาน เลือกทำเลที่ตั้ง อบรมวิธีปฏิบัติงาน สร้างระบบการเงินช่วยเหลือในการจัดตั้งธุรกิจ เป็นต้น

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นหากผู้ประกอบการมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเริ่มต้นสำหรับการเป็นผู้ประกอบการแล้วก็จะสามารถเลือกธุรกิจที่เหมาะสมในการดำเนินงานได้ไม่ยากนัก ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมกับตนเองด้วยความพอประมาณ คือ ความพอดีที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นให้เดือดร้อนก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือเกิดปัญหาน้อยกว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจที่ไม่ถนัด ไม่มีความชำนาญ หรือไม่เหมาะสมกับข้อจำกัดที่มีอยู่

ในคราวหน้าซึ่งจะเป็นตอนที่ 4 ผู้เขียนจะกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้นั้นจะต้องมีองค์ประกอบใดบ้าง ที่จะทำให้ภารกิจขององค์การสำเร็จตามวัตถุประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม.  (2563).  รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2563.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2564) แผนแม่บทประเด็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่. สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2564, จากเว็บไซต์ : http://nscr.nesdb.go.th/


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” จากมุมมองของครูบัญชี (ตอนที่2) 'ทางสายกลาง'​ ภูมิคุ้มกัน​ธุรกิจ SME​ ไทย ในมุมมองของครูบัญชี

ตอนที่แล้วผู้เขียนได้พูดถึงแนวทางในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) เพื่อประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Size Enterprises หรือ MSME) ซึ่งหลาย ๆ ท่านยังมีคำถามในใจว่าควรจะเริ่มต้นประกอบธุรกิจในรูปแบบใดดี ในตอนที่แล้วมีคำตอบให้กับทุกท่านในเบื้องต้น  สำหรับในตอนที่ 2 นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเภทและขนาดของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจในการเลือกประเภทของธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับดำเนินงานของแต่ละบุคคล

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 และกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2562 กำหนดประเภทและลักษณะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไว้โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

หมายเหตุ วิสาหกิจรายย่อยเป็นส่วนหนึ่งของวิสาหกิจขนาดย่อม

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
สำหรับการเป็นผู้ประกอบการกิจการผลิตสินค้า การค้าและบริการ ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นั้น เมธสิทธิ์ พูลดี (2562) ได้อธิบายความหมายของประเภทกิจการแต่ละประเภทดังนี้ 

การเป็นผู้ประกอบการกิจการผลิตสินค้าเป็นลักษณะของการประกอบการเปลี่ยนรูปวัตถุให้เป็นผลิตภัณฑ์ชนิดใหม่ด้วยเครื่องจักรกลหรือเคมีภัณฑ์โดยไม่คำนึงว่างานนั้นทำโดยเครื่องจักรหรือด้วยมือ ทั้งนี้ การประกอบกิจการผลิตสินค้ารวมถึงการแปรรูปผลิตผลการเกษตรอย่างง่ายที่มีลักษณะเป็นการอุตสาหกรรม การผลิตที่มีลักษณะเป็นวิสาหกิจชุมชนและการผลิตที่เป็นการประกอบอุตสาหกรรมในครัวเรือน

การเป็นผู้ประกอบการกิจการการค้า ที่ประกอบด้วยกิจการค้าส่งและค้าปลีก หมายถึง การให้บริการเกี่ยวกับการค้าโดยที่การค้าส่ง หมายถึง การขายสินค้าใหม่และสินค้าใช้แล้วให้แก่ผู้ค้าปลีก ผู้ใช้ในงานอุตสาหกรรม ผู้ใช้งานวิชาชีพ งานพาณิชยกรรม สถาบัน และรวมถึงการขายให้แก่ผู้ค้าส่งด้วยกันเอง ส่วนการค้าปลีก หมายถึง การขายโดยไม่มีการเปลี่ยนรูปสินค้าทั้งสินค้าใหม่และสินค้าใช้แล้วให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อการบริโภคหรือการใช้ประโยชน์เฉพาะส่วนบุคคลในครัวเรือน รวมถึงการเป็นนายหน้าหรือตัวแทนการซื้อขาย สถานีบริการน้ำมัน และสหกรณ์ผู้บริโภค เป็นต้น

การเป็นผู้ประกอบการกิจการการบริการ หมายความครอบคลุมถึง การศึกษา การสุขภาพ การบันเทิง การขนส่ง การก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ การโรงแรมและหอพัก การภัตตาคาร การขายอาหาร การขายเครื่องดื่มของภัตตาคารและร้านอาหาร การให้บริการเช่าสิ่งบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ การให้บริการส่วนบุคคล บริการในครัวเรือน บริการที่ให้ธุรกิจ การซ่อมแซมทุกชนิด การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

หลายท่านคงมีข้อมูลประเภทของธุรกิจในใจแล้วว่าจะเลือกดำเนินธุรกิจประเภทใดดี แนวโน้มของธุรกิจที่เลือกจะเติบโตในอนาคตหรือไม่ ผู้เขียนมีข้อมูลบางส่วนจากรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2562 รายงานโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งรายงานบทบาทของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ในผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในปี 2562 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) รวมทั้งประเทศ หากมีการพิจารณาตามขนาดวิสาหกิจพบว่าวิสาหกิจรายย่อย (Micro) คิดเป็นร้อยละ 2.9 วิสาหกิจขนาดย่อม (SE) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 15.3 และวิสาหกิจขนาดกลาง (ME) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.1 

สังเกตรายละเอียดได้จากรูปที่ 1 ที่แสดงโครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามขนาดวิสาหกิจ

รูปที่ 1 โครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามขนาดวิสาหกิจ
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

สำหรับโครงสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ในปี 2562 ภาคบริการยังคงเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญสูงสุด ลำดับถัดมาคือภาคการค้าปลีกและค้าส่ง และภาคการผลิต คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.8  31.1 และ 20.3 ตามลำดับ 

รายละเอียดตามตารางที่ 1 ภาพรวมของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ตารางที่ 1 ภาพรวมของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศปี 2562 จำแนกตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

คิดว่า ณ จุดนี้ผู้อ่านคงได้แนวความคิดในการเลือกประเภทของธุรกิจในการเริ่มต้นที่จะเป็นผู้ประกอบการได้แล้ว แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกประเภทธุรกิจใดก็ตามผู้เขียนมีข้อเสนอแนะว่าการสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจมีการเติบโตแบบยั่งยืนนั้นปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทย ก็ยังมีประโยชน์มากมายสำหรับการประกอบธุรกิจไม่ว่าในระดับใดก็ตาม เนื่องจากเป็นปรัชญาที่ยึดหลักสายกลางที่ชี้แนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติของประชาชนทุกระดับให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง มีความพอเพียง และมีความพร้อมที่จะจัดการต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนการใช้ความรู้ ความรอบคอบ และคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจและการกระทำต่าง ๆ 

ดังรูปที่ 2 แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

รูปที่ 2 แนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่พอประมาณ เป็นต้น

ความมีเหตุผล หมายถึง การใช้หลักเหตุผลในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ

การมีภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรอบตัว

ปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยความรู้และคุณธรรมเป็นเงื่อนไขพื้นฐาน 

ความรู้ หมายถึง ความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตและการประกอบการงาน

คุณธรรม หมายถึง การยึดถือคุณธรรมต่าง ๆ เช่น ความซื่อสัตย์สุจริต ความอดทน ความเพียร การมุ่งต่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง 

จะเห็นได้ว่าพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ที่ทรงมอบให้ประชาชนชาวไทยในเรื่องของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นประโยชน์อันมหาศาลต่อชนชาวไทยทุกกลุ่มในการนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการในยุคใหม่ ๆ ที่ตลาดการค้าในปัจจุบันมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง อย่างน้อยในเริ่มแรกของการเป็นผู้ประกอบการจะช่วยสร้างให้องค์การมีภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

 

ข้อมูลอ้างอิง

- เมธสิทธิ์ พูลดี. (2562).  ตัวแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อการเติบโตของวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมในประเทศไทย (ปริญญานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต).  กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีปทุม
- สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.  (2559).  เศรษฐกิจพอเพียง.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน
- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม.  (2563).  รายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ปี 2563.  กรุงเทพฯ : สำนักงาน


โปรเด็ด! เทหมดตัว มาสด้า 2 และ นิสสันอัลเมร่า ทักเลย! ตอบไว! แอดเลย @TheShopsTimes 
คลิก????https://lin.ee/vfTXud9

“พอเพียงสู่ความยั่งยืน” จากมุมมองของครูบัญชี (ตอนที่1)

ในแต่ละปีสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยผลิตบัณฑิตหลากหลายสาขาออกมารับใช้สังคมเป็นจำนวนมากบางส่วนออกไปประกอบอาชีพเป็นพนักงานประจำในองค์การทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ก็มีบัณฑิตบางส่วนที่มีความคิดไม่อยากเป็นพนักงานประจำอยากมีกิจการเป็นของตนเอง แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไรดีในการกำหนดรูปแบบและประเภทของกิจการวิธีการดำเนินงานจะทำอย่างไรให้ธุรกิจดำรงอยู่และเติบโตได้ในอนาคตเมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ จะมีวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอแนวความคิดเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับบัณฑิตหรือผู้ที่มีความสนใจอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองในการนำไปปรับใช้ สำหรับการเป็นผู้ประกอบการในอนาคต โดยใช้ข้อมูลทางด้านบริหารธุรกิจโดยเฉพาะทางด้านศาสตร์บัญชี เพื่อทำให้ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคต

การเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises หรือ MSME) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่จะเริ่มต้นการประกอบธุรกิจเนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จากการรับทราบรายงานสถานการณ์วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2563 ของคณะรัฐมนตรี ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) รายงานพบว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ GDP MSME ยังคงขยายตัวได้สูงมาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การบริโภคของภาครัฐ และภาคเอกชน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคการค้าและภาคการบริการ ยังคงเติบโตได้ในอัตราที่สูง 

ในทางกลับกันดัชนีความเชื่อมั่นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2562 อยู่ที่ระดับ 47.5 เท่ากับค่าเฉลี่ยของปี 2561 และเมื่อจำแนกตามกลุ่มธุรกิจ พบว่าผู้ประกอบการ MSME ภาคการค้า และภาคการบริการ มีระดับความเชื่อมั่นเฉลี่ยในปี 2562 ลดลง ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคการผลิตมีระดับความเชื่อมั่นสูงขึ้น 

อย่างไรก็ตามค่าเฉลี่ยของดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ยังต่ำกว่าค่าฐานที่ 50 แสดงถึงความเชื่อมั่นที่ไม่ดีนักโดยมีสาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่เกิดจากความต้องการของตลาดโลกลดลงการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติสงครามการค้าระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอเมริการวมทั้งค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งค่ารวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคการเกษตรและรายได้ของเกษตรกร

หากสังเกตจากรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถึงแม้นว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Micro, Small and Medium-Sized Enterprises: MSME) ปี 2562 มีมูลค่า 5,963,156 ล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 35.3 ต่อ GDP รวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้นจากในปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 34.6 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของ MSME ในช่วง 9 เดือนแรก (มกราคม-กันยายน) ของปี 2563 มีค่าเท่ากับ 42.5 ลดลงจากค่าเฉลี่ย 46.1 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยสาเหตุหลักมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) เป็นอย่างมากโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP MSME ในปี 2563 อยู่ในช่วงระหว่างร้อยละ 0.5 ถึงร้อยละ 6.2 (ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ) 

ทั้งนี้จากการสำรวจความเห็นของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) จำนวน 2,700 รายพบว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) มีแผนการปรับตัวทางธุรกิจคิดเป็นร้อยละ 84.8 ซึ่งส่วนใหญ่จะปรับตัวในด้านการลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รองลงมา คือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าและรูปแบบบรรจุภัณฑ์ และ การเพิ่มประเภทสินค้าและรูปแบบการให้บริการ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการขายในตลาดออนไลน์มากขึ้น และสิ่งที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือในการขายสินค้าออนไลน์มากที่สุด ได้แก่ การส่งเสริมทักษะในการทำตลาดออนไลน์ การสนับสนุนต้นทุนขนส่งสินค้า และ การประชาสัมพันธ์สินค้าออนไลน์ท้องถิ่น ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือโดยตรงต่อธุรกิจ MSME ที่มีความต้องการ แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ได้แก่ มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษีและเงินกู้ฉุกเฉิน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อรักษาสภาพคล่องของกิจการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้งนี้ปัญหาสำคัญที่ทำให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ไม่สามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุน ได้แก่ การขาดหลักประกันหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอปัญหาด้านประวัติการชำระหนี้ที่ผ่านมาและการขาดเอกสารหลักฐานแสดงรายได้ (https://www.ryt9.com/s/cabt/3190747

แม้นว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะมีความสำคัญเพียงใดก็ตาม ในบทบาทของผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาต่าง ๆ ที่เข้ามากระทบกับการองค์การได้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพปัญหาภายในองค์กร เช่น ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ คุณภาพสินค้า รูปแบบบรรจุภัณฑ์ รูปแบบการให้บริการ ช่องทางการส่งเสริมการขาย หรือสภาพปัญหาภายนอกองค์กร เช่น ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดต่อมาตรการด้านภาษี หรือแม้นกระทั่งแหล่งเงินทุนขององค์การ ดังนั้น แนวทางการดำเนินงานที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่องค์การได้นั้น หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นแนวทางในเบื้องต้นสำหรับการประกอบธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการได้อย่างยั่งยืน

หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตให้แก่พสกนิกรชาวไทย โดยมีแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก โดยต้องอาศัยความรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ที่ของรัฐนักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรมความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม มีการดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งวัตถุสังคมสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี (สุเมธตันติเวชกุล, 2550, http://www.rdpb.go.th/th/Sufficiency

จากแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) จะพบว่าเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ดังนั้นในการที่จะเป็นเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการในธุรกิจใด ๆ หากนำแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอน โดยอาศัยความรู้ความรอบคอบและความระมัดระวังอย่างยิ่งก็จะทำให้ธุรกิจมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก

ในการเป็นผู้ประกอบการนั้น อาจจะเริ่มต้นจากการเป็นเจ้าของธุรกิจเพียงคนเดียว หรืออาจจะมีหุ้นส่วนรวมกันหลายคน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับรูปแบบของธุรกิจเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการบริหารจัดการ โดยรูปแบบของธุรกิจสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้

บุคคลธรรมดา : บุคคลทั่วไป ที่มีชีวิตอยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (มาตรา 15)

คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันเหมือนห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น (มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร)

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงเข้ากันเพื่อการทำกิจการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์แบ่งปันกำไรที่ได้จากกิจการที่ทำ (มาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร)

ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดบุคคล : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน โดยทะเบียนนิติบุคคลหุ้นส่วนทุกคนไม่จำกัดความรับผิด และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ห้างหุ้นส่วนจำกัด : บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการร่วมกัน หุ้นส่วนมีทั้งที่จำกัดความรับผิดและไม่จำกัดความรับผิด และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

บริษัทจำกัด : บุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไปมาลงทุนและเป็นเจ้าของกิจการ ผู้ถือหุ้นรับผิดในหนี้ต่าง ๆ ไม่เกินจำนวนเงินที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนลงทุน และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

วิสาหกิจชุมชน : กิจการของชุมชนที่เกี่ยวกับการผลิตสินค้า การให้บริการ หรือการอื่นที่ดำเนินการโดยคณะบุคคลที่มีความผูกพัน มีวิถีชีวิตร่วมกัน และรวมตัวประกอบกิจการดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้และเพื่อการพึ่งพาตนเองของครอบครัว ชุมชนและระหว่างชุมชน โดยมีการยื่นขอจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน 2548 กับกรมส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนการเกษตร 

ที่มา : https://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/SMEs/infographic/360_1_2.pdf

หลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คงจะพอมีแนวทางในการเริ่มต้นการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อประกอบธุรกิจในเบื้องต้นบ้างแล้ว โดยเฉพาะการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ถือเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลพยายามเร่งพัฒนายกระดับให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเติบโตอย่างมีศักยภาพ มีความสามารถในการทำธุรกิจให้อยู่ในระดับสากลมากขึ้น และสามารถอยู่ได้เช่นเดียวกับธุรกิจขนาดใหญ่ และมีการส่งเสริมเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันต้องถือว่าเป็นความโชคดีของประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มทุกอาชีพที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงพระราชทานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Philosophy of Sufficiency Economy) ไว้ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน 

ในตอนต่อไปผู้เขียนจะกล่าวถึงประเภทและขนาดของของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบข้อมูลต่อจากการกำหนดรูปแบบของธุรกิจ 

หมายเหตุ: แนวคิดและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ในบทความเป็นของผู้เขียนไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่สังกัด 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top